จับตา Sustainability Trends 2025 ในไทย ที่ธุรกิจยุคใหม่ควรติดตาม
ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นด้านความยั่งยืนและเทรนด์สิ่งแวดล้อม Sustainability Trends 2025 นับว่าเป็นเทรนด์ที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยองค์กรหลายแห่งก็ได้เริ่มนำหลักการของ ESG มาบูรณาการให้เป็นโมเดลทางธุรกิจ ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลก เพราะฉะนั้น เราจะพาชาว Go Green มาเกาะติดเทรนด์ด้านความยั่งยืนในปี 2025 กัน ว่ามีประเด็นไหนที่น่าติดตาม และเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เติบโตในปีนี้กันบ้าง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
รู้จัก Sustainability Trends คืออะไร?
คำว่า Sustainability Trends แปลแบบตรงตัวเลยก็คือ “เทรนด์ความยั่งยืน” ที่จะมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในหลาย ๆ มิติ และเป็นมิตรต่อโลก โดยการดำเนินการของเทรนด์ความยั่งยืน จะคำนึงถึงหลักการของ ESG ที่มีมิติสำคัญหลัก ๆ 3 ข้อ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental : E), สังคม (Social : S) และ ธรรมาภิบาล (Governance : G)
โดยการดำเนินการภายใต้หลักการของ ESG นี้ จะช่วยสร้างความยั่งยืนและมั่นคงได้จริง เพียงแค่ต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง มีผลลัพธ์ที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์ และที่ขาดไม่ได้คือ มีการวัดผลที่ชัดเจน และไม่ว่าจะเป็น เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือเทรนด์ด้านความยั่งยืน ล้วนแล้วแต่เป็น Mega Trends ที่มีหลักการสำคัญอย่าง ESG เป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินการนั่นเอง และเทรนด์ซัสเทนนี้ก็มีหลายเทรนด์ที่เติบโต ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในทุก ๆ พื้นที่

รวม 5 เทรนด์ Sustainability ในไทยที่เติบโตในปี 2025
สำหรับเทรนด์ Sustainability ในไทยที่เติบโตและน่าจับตา สำหรับการลงทุนหรือการทำธุรกิจใด ๆ ก็ตาม นับว่ามีหลายเทรนด์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงความยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจในระยะยาว โดยเทรนด์ธุรกิจในปี 2025 นี้ ก็มีหลายเทรนด์ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. เทรนด์ Net Zero และ Decarbonization
นับตั้งแต่ที่เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างต่อเนื่อง เทรนด์ Net Zero กลายเป็นหนึ่งในการลงทุนที่นักลงทุนหลายคนต่างก็จับตามอง โดยเฉพาะบริษัทหลาย ๆ แห่งทั่วโลก ที่นำเอาประเด็นของ Net Zero มาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินกิจการ ภายใต้หลักการของ ESG ที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน ทั้งในมิติของภาคธุรกิจและนักลงทุน
โดยในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ตามร่าง พ.ร.บ.ลดโลกร้อน (Climate Change Act) ที่จะทำให้การลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินกิจการ ซึ่งในปัจจุบันการลงทุนในด้าน Net Zero ของประเทศไทยก็มีหลายส่วนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มหุ้นยั่งยืน THIS, กลุ่มกองทุน ThaiESG และตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond ที่มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก
เพราะฉะนั้น การลงทุนหรือการประกอบกิจการนับตั้งแต่นี้ไป ธุรกิจต้องเริ่มวางแผนการดำเนินกิจการ ในการลดการใช้คาร์บอนกันอย่างจริงจัง ด้วยการนำมาตรการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งาน เช่น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิต ซึ่งยังรวมไปถึงการขนส่งและการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีหลายธุรกิจหันมาปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการแล้วเช่นกัน อาทิ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถฟลีทในธุรกิจโลจิสติกส์นั่นเอง

2. ESG Regulatory Framework
จากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา อีกหนึ่งประเด็นของเทรนด์ธุรกิจที่ต้องปรับตัวในยุค Green Trends นี้ ก็คือการให้ความสำคัญต่อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินกิจการมากขึ้น เช่น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากมีการบังคับใช้ก็จะนำมาสู่การตรวจวัด Carbon Footprint รวมถึงการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็จะนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนในตลาดคาร์บอนเครดิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม
เพราะฉะนั้น หลักการของ ESG จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินกิจการในหลาย ๆ มิติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการส่งออก ที่ต้องรับมือกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ที่จะกำหนดราคาสินค้าบางประเภท รวมถึงการเรียกเก็บคาร์บอน ซึ่งในอนาคตผลิตภัณฑ์บางรายการอาจต้องระบุข้อมูลลงบนฉลาก

3. การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาของ Sustainability Trends ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ลดการผลิตเพื่อนำมาใช้แล้วทิ้ง แต่จะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ใช้งานได้นานขึ้น ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยรวมไปถึงการนำวัสดุมารีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งในกระบวนการนี้จะต้องมุ่งเน้นการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก้าวไปให้ถึง Net Zero Emissions ขององค์กรในอนาคต
โดยในปัจจุบันนี้หลาย ๆ ธุรกิจ ก็ได้นำแนวคิดนี้มาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการ อาทิ ธุรกิจบริษัท TileGreen ธุรกิจ Start – Up ที่นำถุงพลาสติกมารีไซเคิลเป็นอิฐ สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งการผลิตอิฐ 1 ก้อน จะใช้ถุงขยะพลาสติกทั้งสิ้น 125 ถุง หรือแม้กระทั่งโครงการ Green Road ของประเทศไทย ที่รับบริจาคขยะพลาสติกสำหรับผลิตบล็อกปูนปูถนน เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น
แน่นอนว่า เทรนด์ความยั่งยืนที่น่าจับตาก็คือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ที่ไม่ได้ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น และยังส่งผลดีต่อการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เช่นกัน ดังนั้น ในการดำเนินกิจการของธุรกิจยุคใหม่ ไม่จำเป็นว่าต้องนำวัสดุเหลือใช้ไปรีไซเคิลเท่านั้น เพราะเพียงแค่ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ก็นับว่าเป็นการดำเนินกิจการภายใต้หลักการของ ESG Model ได้แล้ว
“ในปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนยังคงกระจุกตัวในองค์กรขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 76% นั่นหมายถึงการปรับตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในยุคนี้ (ที่มา: สถิติจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร)”

4. ความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน
ความยั่งยืนของการประกอบธุรกิจและการลงทุนในยุคใหม่ ความโปร่งใสและการมีจริยธรรมของห่วงโซ่อุปทาน (Sustainable Supply Chain) ก็เป็นแนวทางที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในทุก ๆ มิติ นับตั้งแต่การดำเนินงานจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของธุรกิจในโมเดล ESG เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นมาตรฐานสากลที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้
5. การผสานเทคโนโลยี AI ร่วมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
และอีกหนึ่งเทรนด์ Sustainability ในไทย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในโครงสร้างอย่างมีศักยภาพ ซึ่งจากรายงานของ PwC ก็ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้ AI เพื่อจัดการกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง และเพิ่ม GDP ของโลกได้
แต่ข้อจำกัดของการใช้งาน AI ก็ยังคงต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพราะโมเดล AI ใช้พลังงานในปริมาณมาก และส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่สูงเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนา AI ในยุค Green Trends จึงต้องมีความสมดุลระหว่างประโยชน์จากการใช้ AI และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และควรนำการวิเคราะห์ของ AI ไปใช้อย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการหาวิธีลดการใช้พลังงานร่วมด้วย

สรุป
สำหรับ Sustainability Trends 2025 ในประเทศไทยตอนนี้ ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ๆ ของการพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วต้องอาศัยการปรับตัวและการบูรณาการแนวทางของ Sustainability ให้เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและนักลงทุน ที่ให้ความสำคัญโน ESG มากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน และองค์กรที่มีแผนกลยุทธ์ด้าน ESG ที่แข็งแกร่ง ย่อมมีศักยภาพที่เติบโตในระยะยาวได้มากกว่าคู่แข่งเช่นกัน
ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับองค์กรในหลาย ๆ มิติ ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนการร่วมมือกับพันธมิตร หรือ พาร์ตเนอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน Sustainability โดยเฉพาะ อาทิ การร่วมมือกันระหว่าง Evolt และ Banpu NEXT ที่เป็นพาร์ตเนอร์ขยายแพลตฟอร์มสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อขยายโซลูชัน New S – Curve ให้ยั่งยืน รวมถึงการให้บริการโซลูชัน EV Fleet สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น