BLOGBLOG
back

มาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า NEDC / WLTP / CLTC / EPA ต่างกันอย่างไร?

การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รถตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นก็คือความจุของแบตเตอรี่ ที่มีผลต่อการทดสอบระยะทางวิ่ง ตามมาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า ที่สามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีความแตกต่างกัน ทั้งความจุของแบตเตอรี่ สมรรถนะการขับขี่ รวมถึงมาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น NEDC, WLTP, CLTC และ EPA ที่สามารถวัดได้จากการทดสอบของมาตรฐานต่าง ๆ

มาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า NEDC / ELTP / CLTC / EPA

มาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า คืออะไร?

คำว่า มาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า (EV Range) คือ การวัดว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV คันนั้น ๆ มีขีดความสามารถในการวิ่งได้ระยะทางเท่าไหร่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มในหนึ่งครั้ง โดยในปัจจุบันมาตรฐานที่ใช้วัดระยะทางการวิ่ง มีหลายมาตรฐานในการทดสอบ ซึ่งที่นิยมและได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือมาตรฐานรถไฟฟ้า NEDC, WLTP, CLTC และ EPA โดยมาตรฐานแต่ละตัวจะมีการทดสอบที่แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น ในการเลือกซื้อรถหรือเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละครั้ง จะต้องดูว่ามาตรฐานที่ใช้ทดสอบใช้มาตรฐานอันเดียวกันหรือไม่ แล้วรถคันนั้น ๆ มีการทดสอบมาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าอะไรบ้าง ซึ่งในรถยนต์บางคันก็มีมากกว่าหนึ่งการทดสอบ

มาตรฐาน NEDC กับ WLTP

1. มาตรฐานรถไฟฟ้า NEDC

มาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle) คือ มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าของทางยุโรป ที่ใช้เป็นมาตรฐานการวัดระยะทางที่วิ่งได้นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา พัฒนาโดยสหภาพยุโรป หรือ EU โดยจะใช้วัดระยะทางของรถยนต์ที่ใช้ในเมืองหรือท้องถนนบริเวณชานเมืองเท่านั้น ทำให้ได้ตัวเลขที่สูงมากกว่าการวิ่งจริงพอสมควร เพราะในการใช้งานจริงจะมีสภาพพื้นผิวหรือการจราจรที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น การดูมาตรฐานรถไฟฟ้า NEDC จึงนิยมดูเทียบกับมาตรฐาน WLTP ร่วมด้วย เพราะมีความแม่นยำในการใช้จริงมากกว่า

2. มาตรฐาน WLTP

มาตรฐาน WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure) คือ มาตรฐานระยะทางวิ่งที่พัฒนาโดยสหภาพยุโรป โดยใช้ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่อยอดมาจาก NEDC ทำให้การวัดระยะทาที่ได้ ให้ความแม่นยำในการใช้งานจริงที่มากกว่า

และหากเทียบระหว่างมาตรฐาน NEDC กับ WLTP ในการวิ่งจริง จะเห็นได้เลยว่า NEDC จะได้ระยะทางที่มากกว่าประมาณ 20 – 30% โดยการทดสอบของมาตรฐาน WLTP จะใช้การทดสอบทั้งการใช้งานในเมืองและนอกเมือง ทำให้มีความแม่นยำและใกล้กับความเป็นจริงมากกว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่นิยมใช้มาตรฐานนี้ในการทดสอบก็คือ BMW, Audi, Volvo และ Mercedes

การทดสอบมาตรฐานการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า

3. มาตรฐาน CLTC

สำหรับมาตรฐาน CLTC (China Light – Duty Vehicle Test Cycle) คือ มาตรฐานระยะทางวิ่งที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน โดยเริ่มต้นใช้นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โดยมาตรฐานนี้พัฒนาโดยใช้การทดสอบด้วยความเร็ว 3 แบบ คือ ความเร็วต่ำ ความเร็วระดับปานกลาง และความเร็วสูง เพื่อให้ใกล้เคียงกับการวิ่งจริงในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด

โดยการทดสอบของมาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า CLTC จะใช้ระยะเวลาในการทดสอบ 30 นาที ซึ่งการทดสอบจะเริ่มจากหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็ว 114 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งรถยนต์ที่ใช้มาตรฐานนี้มีหลายรุ่นมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือ Tesla ที่จำหน่ายในประเทศจีน ที่ก็ใช้มาตรฐาน CLTC ในการทดสอบเช่นกัน

4. มาตรฐาน EPA

อีกหนึ่งมาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในตอนนี้ก็คือ มาตรฐาน EPA (Environmental Protection Agency) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้วิธีการทดสอบในห้องแลปทั้งหมด โดยจะเริ่มจากการชาร์จแบตให้เต็ม หลังจากนั้นจะจอดรถทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปวิ่งบนไดโน่ (Dino Test) เพื่อจำลองการวิ่งในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การวิ่งในเมือง การวิ่งนอกเมือง โดยจะทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนแบตรถหมด แล้วทำการบันทึกระยะทางที่ได้จากการทดสอบเอาไว้

โดยการทดสอบมาตรฐาน EPA จะมีความเข้มงวดกว่า NEDC และ WLTP อย่างชัดเจน เพราะมีการทดสอบหลายรูปแบบมากกว่า เพราะตัวไดโน่ที่ใช้ทดสอบ จะมีการจำลองการใช้งานหลายสถานการณ์มาก ๆ ทั้งการขับขี่ในเมือง ทางหลวง รวมถึงสภาวะคงที่อย่างต่อเนื่อง และในการระบุระยะทางในการวิ่งจริง ด้วยค่าประมาณไมล์ต่อแกลลอนเทียบเท่า (MPGe) ที่เชื่อถือได้นอกเหนือจากระยะทางวิ่งของรถ

การทดสอบมาตรฐานการวิ่งรถไฟฟ้า

ระหว่างมาตรฐานการวิ่งของรถไฟฟ้าทั้ง 4 แบบ เลือกแบบไหนดี?

ในบรรดาการทดสอบของมาตรฐานระยะทางรถไฟฟ้า เพื่อหาระยะทางวิ่งของรถยนต์ EV ทั้ง 4 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น NEDC, WLTP, CLTC และ EPA นั้น จะเห็นได้เลยว่ามีการทดสอบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลให้รถแต่ละคันมีผลการทดสอบที่แตกต่างกัน ตามรูปแบบของมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบระยะทางที่วิ่งได้

โดยรถที่ใช้มาตรฐาน NEDC และ WLTP จะเป็นมาตรฐานที่เน้นการเดินทางในเมืองและชานเมืองเป็นหลัก ในขณะที่ EPA จะให้ความสำคัญในการใช้รถบนทางหลวงมากกว่า ตามพฤติกรรมของผู้ใช้รถในท้องถิ่น แต่หากเป็นรถจากทางประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ก็จะใช้มาตรฐาน CLTC ที่ใช้การทดสอบด้วยความเร็วหลายระดับ

ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานใด ๆ ก็ตาม ผู้ใช้รถจะต้องดูว่าใช้หลักการทดสอบแบบไหนเป็นหลัก แล้วระยะทางที่ได้แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และที่ขาดไม่ได้คือ ความจุของแบตเตอรี่รวมถึงระบบต่าง ๆ ของตัวรถ ที่ส่งผลต่อระยะทางในการใช้งานจริงโดยตรง ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานใดก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่และสภาพการจราจรด้วยเช่นกัน

ชาร์จถรถได้ทั่วไทย ด้วยบริการสถานีชาร์จจาก Evolt

ใช้รถมั่นใจ อยู่ที่ไหนก็ชาร์จได้ที่ Evolt EV Charging Station

สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV ไม่ว่าจะใช้รถยนต์รุ่นไหนอยู่ก็ตาม สามารถดาวน์โหลดแอปฯ Evolt Application เพื่อใช้ในการค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charging Station ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย มั่นใจได้ในทุกการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น สถานีชาร์จภาคเหนือ, สถานีชาร์จภาคใต้, สถานีชาร์จภาคอีสาน หรือในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็มีสถานีชาร์จของ Evolt ให้บริการอยู่ทั่วประเทศ รองรับหัวชาร์จทั้งแบบ AC และ DC ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกรุ่น