คปภ. อนุมัติเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV คุ้มครองแบต ลดเบี้ยผู้ขับขี่ 40%
ในช่วงที่ผ่านมากระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย นับว่าได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก การันตีได้จากยอดจองรถในช่วงงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา ที่รถยนต์ไฟฟ้า BEV และ EV สามารถสร้างยอดจองไปได้ทั้งหมด 38.4% ในขณะที่รถยนต์สันดาปมียอดจองอยู่ที่ 61.6% รวมยอดจองในงานทั้งหมด 53,248 คัน และด้วยการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยนี้เอง มาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีให้เราติดตามกันหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือ การอนุมัติเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV ของทาง คปภ. ที่มีผลแล้วนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา
เลือกอ่านได้เลย
สรุปทุกข้อมูลเด็ด ว่าด้วยเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV
สำหรับ เกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV โดย คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย นั้น ได้มีการเผยแพร่เกณฑ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมลงนามคำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 ว่าด้วยเรื่องให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เท่านั้น (Battery Electric Vehicle-BEV) โดยไม่รวมรถยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์สันดาป
โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ จะถูกบังคับให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ดีขึ้น ทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง และที่สำคัญคือ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้เอาประกันภัย ตลอดจนสังคมโดยรวม ซึ่งคำสั่งนี้จะมีผลบังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัย โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากผู้เอาประกันภัยทำประกันก่อนวันที่คำสั่งมีผลบังคับ ให้ปฏิบัติดังนี้
1. ให้บริษัทคำนวณเบี้ยประกันภัย สำหรับลูกค้าเก่าที่ซื้อประกันบริษัทเดิม
ในกรณีนี้จะครอบคลุมสำหรับลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัย ที่ได้ทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ากับบริษัทเดิม ซึ่งจะต้องให้บริษัททำการคำนวณเบี้ยประกันให้ใหม่ โดยให้ส่วนลดเบี้ยประกันประวัติดีตามลำดับขั้นที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะได้รับ โดยจะต้องไม่เกินลำดับขั้นส่วนลดสูงสุดตามที่กรมธรรม์กำหนด
2. บริษัทใหม่อาจคำนวณเบี้ยประกันภัย เพื่อลดเบี้ยประกันสำหรับลูกค้าใหม่
ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันรถยนต์ไฟฟ้า กับบริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัทเดิม (เปลี่ยนบริษัทประกันภัย) นั้น ทางบริษัทอาจคำนวณเบี้ยประกันภัย โดยให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยประวัติดีตามลำดับขั้น ที่ผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับร่วมด้วยได้ โดยไม่เกินลำดับขั้นส่วนลดสูงสุดตามที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ากำหนด
3. การทำประกันภัยโดยระบุชื่อผู้ขับขี่
ส่วนกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่อย่างชัดเจน ทางบริษัทประกันภัยอาจจะกำหนดระดับพฤติกรรมการขับขี่โดยเทียบเคียงประวัติการขับขี่ตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยผลบังคับจะต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
เกณฑ์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ แยกคุ้มครองแบตและตัวรถ
ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV ฉบับนี้ มีความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างก็คือ การแยกคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ออกจากตัวรถอย่างชัดเจน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลักแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ
- หากแบตได้รับความเสียหายและต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด จะชดใช้สินไหมตามอายุการใช้งาน ปีแรก 100% โดยจะลดอัตราการชดใช้ปีละ 10% และชดใช้ต่ำสุดอยู่ที่ 50% (อายุเกิน 5 ปี)
- กรณีที่รถยนต์ได้รับความเสียหาย หรือสูญหายบางส่วน บริษัทและผู้เอาประกันอาจตกลงกันว่าจะมีการซ่อมหรือเปลี่ยนรถยนต์ที่มีสภาพเดียวกันแทนได้ โดยจะรวมถึงอุปกรณ์และการชดใช้เงินทดแทนด้วย
นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามอัตราที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า จะถือว่าซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เอาประกันภัยและบริษัท โดยจะยึดตามสัดส่วนหรืออัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตัวแบตเตอรี่ในเกณฑ์ประกันรถยนต์ BEV จากที่ คปภ. กำหนด
ข่าวดีสำหรับผู้ใช้รถ เลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้ตามความสมัครใจ!
ถึงแม้ว่าเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV จาก คปภ. จะกำหนดเรื่องค่าสินไหมทดแทนและการแยกความคุ้มครองของตัวแบตออกจากตัวรถอย่างชัดเจน แต่ว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ตามความสมัครใจ เช่น ค่าสินไหมทดแทน การชดใช้ความเสียหายจากการใช้งานเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยเฉพาะกรณีที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความอุ่นใจและการใช้งานรถของผู้เอาประกันภัยนั่นเอง
โดยเป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติม ที่ทาง คปภ. ได้ระบุเอาไว้ แต่จะมีข้อยกเว้นเรื่องการคุ้มครองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเครื่องชาร์จผิดหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตหรือว่าผู้ให้บริการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ข้อบกพร่องจากการผลิตหรือว่าการออกแบบที่ผิดพลาดของผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องชาร์จ การอัปเดตซอฟต์แวร์ และความล้มเหลวจากตัวซอฟต์แวร์ ฯลฯ
สรุปความต่างระหว่างประกันแบบเดิม และเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่
สำหรับความแตกต่างของกรมธรรม์ระหว่างประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายอยู่ในปัจจุบันนี้ และกรมธรรม์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2567 นี้ จะมีความแตกต่างกันทั้งหมด 5 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่
- ความคุ้มครอง ที่กรมธรรม์แบบใหม่จะคุ้มครองทุกภัย (All Risk) เหมือนแบบเดิม แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อระบบ รวมถึงความเสียหายจากเครื่องชาร์จที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตรถ
- การรับประกัน หากเป็นกรมธรรม์แบบเดิมจะจ่ายตามจริง ไม่มีการกำหนดค่าเสื่อม แต่ว่าถ้าเป็นประกันแบบใหม่จะมีการกำหนดค่าเสื่อมลดลงปีละ 10% และหากเปลี่ยนแบตใหม่ก็ขอเพิ่มความคุ้มครองได้เช่นกัน
- อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ BEV จะใช้เหมือนรถยนต์ทั่ว ๆ ไป แต่ว่ากรมธรรม์แบบใหม่จะเพิ่มพิกัดขั้นสูง ทำให้มีความยืดหยุ่นต่อบริษัทประกันได้ และมีการกำหนดพิกัดเบี้ยเป็น 5 ขั้น ตามฐานราคา โดยส่วนลดประวัติของผู้ขับขี่มีตั้งแต่ 10 – 40%
- การระบุชื่อผู้ขับขี่ ที่ประกันแบบใหม่จะต้องระบุชื่อผู้ขับขี่อย่างชัดเจน สูงสุด 5 คน และมีการกำหนดอัตราร่วมจ่ายส่วนแรก เมื่อผู้ขับขี่ไม่ปรากฏรายชื่อตามที่แจ้งชื่อเอาไว้ตั้งแต่ต้น
- ส่วนลดและการเพิ่มเบี้ยประกัน ที่จะใช้ประวัติรถเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ จะใช้ประวัติผู้ที่ขับขี่ที่แย่ที่สุดสำหรับการคำนวณเบี้ยประกัน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และข้อมูลจาก สำนักงาน คปภ. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
มั่นใจได้มากกว่า ด้วยเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจาก Evolt Technology
จะเห็นได้เลยว่า เกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า BEV ปี 2567 จากทาง คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่นับว่าเป็นประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับแรกของไทย ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในแง่ของการประกันรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ หากคุณกำลังมองหาผู้ให้บริการ ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ผ่านมาตรฐาน ERC, MEA และ PEA ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งสถานีชาร์จที่บ้านและที่อยู่อาศัย หรือการทำธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพียงเลือกใช้บริการกับทาง Evolt Technology ก็สามารถรับสิทธิพิเศษที่มากกว่าได้ทันที ลงทะเบียนได้เลยที่ https://forms.gle/rmMoe3C7VdYtuT2W8