เจาะความหมาย “ESG” คืออะไร กับนิยามใหม่เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน
แนวคิด “ESG” เป็นแนวคิดที่ย่อมาจากคำว่า Environment, Social, และ Governance ซึ่งคำว่า ESG ก็คือ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้หวังเพียงแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน โดยในปัจจุบันนี้เทรนด์ธุรกิจดังกล่าว ต่างก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ที่ให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันต่างก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่มี ESG จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพขององค์กร ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลได้อย่างชัดเจน
เลือกอ่านได้เลย
เจาะลึกความหมายของ ESG ที่แท้จริง ว่ามีอะไรบ้าง?
หลักการของ ESG คือ แนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ที่บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ นำมาปรับใช้ปฏิบัติ ภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยทุก ๆ อย่างล้วนมีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันทั้งสิ้น เพื่อนำไปสู่การทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการตัดสินใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและนักลงทุน ที่ใช้หลักการดังกล่าวนี้มาประกอบการพิจารณาลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ ทั้งยังช่วยให้ประเมินการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตขององค์กรเช่นเดียวกัน
“E” Environment หรือ สิ่งแวดล้อม
ความหมายของ E จากแนวคิด ESG ย่อมาจากคำว่า Environment หรือ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันนี้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง ต่างก็เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติมากน้อยเพียงใดก็ตาม จึงนำมาสู่การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น จึงนำมาสู่การประเมินจากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดปริมาณการใช้กระดาษ การหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทน การรีไซเคิล ฯลฯ เช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในไทย ที่ช่วยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ที่หันมาใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่นเดียวกับการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ที่มีความครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน
“S” Social หรือ สังคม
โดยความหมายของ S ของ ESG ก็มาจากคำว่า Social หรือก็คือการจัดการด้านสังคม ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งธุรกิจที่ดีจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และได้รับความไว้วางใจต่อนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่เลือกใช้สินค้าหรือบริการ โดยเกณฑ์ที่ใช้ประเมินก็มีความหลากหลายเช่นกัน อาทิ ความเป็นอยู่ของแรงงาน ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม และที่ขาดไม่ได้คือ การให้ความสำคัญต่อกฎหมายแรงงานและหลักสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก
“G” Governance หรือ ธรรมาภิบาล
และตัวความหมายสุดท้ายของ G จากแนวคิด ESG ย่อมาจาก Governance หมายถึง การจัดการด้านธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล โดยจะมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยต้องมีการตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลัก ๆ แล้วคือการเปิดเผยนโยบายและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา อาทิ การจัดการด้านภาษี โครงสร้างผู้บริหาร ความปลอดภัยของข้อมูลทางไซเบอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นถึงความโปร่งใสของธุรกิจ ที่บางองค์กรอาจจะใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เป็นต้น
ESG สำคัญอย่างไรต่อภาคธุรกิจและสังคม?
จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 จาก World Economic Forum (WEF) นั้น ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า สภาพอากาศและความล้มเหลวจากการจัดการด้านภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ตลอดจนความปลอดภัยทางไซเบอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวิกฤตในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และวิกฤตดังกล่าวนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายในสิบปีข้างหน้า เช่นเดียวกับการก้าวเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ที่ทาง UN ได้ประกาศออกอย่างเป็นทางการ พร้อมการสิ้นสุดปัญหา “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่เราคุ้นชินกัน ซึ่งความหมายของคำว่าภาวะโลกเดือดก็คือ การก้าวเข้าสู่ยุคที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ อุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียส
การก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด บวกกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำนี้เอง จึงกลายเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามของมนุษยชาติ ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญ IPCC ที่ได้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็ได้เขียนรายงานฉบับล่าสุด (IPCC AR6-2022) พร้อมแนะนำหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเองก็ได้หันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีมาตรการการปรับตัว (Adaptation) เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคตเช่นกัน อาทิ การส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ รวมถึงพัฒนาการของเด็ก ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดนี้โดยตรง
ดังนั้น แนวคิดของ ESG จึงเป็นเมกะเทรนด์ (Mega Trend) ปี 2023 ที่ภาคธุรกิจต่างก็หันมาเริ่มต้นใช้แนวคิดนี้ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอง ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการลงทุนที่เน้นความยั่งยืน ย่อมส่งผลต่อผลตอบแทนที่มากขึ้น ตรงกับผลการศึกษาจาก Financial Planning Association 2023 ที่ได้สำรวจจากผู้ให้คำแนะนำทางการเงินจำนวน 242 ราย พบว่าในปี 2063 นักลงทุนหันมาลงทุนแบบ ESG มากขึ้น
ซึ่งในปัจจุบันก็มีการจัดตั้งดัชนีความยั่งยืนเพื่อชี้วัดว่าธุรกิจนั้น ๆ สอดคล้องกับแนวคิด ESG มากน้อยแค่ไหน โดยในประเทศไทยได้จัดตั้งเกณฑ์ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน” (Thailand Sustainability Investment : THSI) เพื่อจำกัดบริษัทที่ผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติของ ESG นั่นเอง ทั้งนี้ ในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมได้ประกาศผลการประเมินในรูปแบบของ ESG Ratings เป็นปีแรก โดยบริษัทที่ผ่านการประเมินจะต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ โดยจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
“เพราะเหตุนี้เอง การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิด ESG จึงเป็นการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินกิจการ ภายใต้การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในระยะยาวได้”
Evolt พร้อมสร้างสังคมที่สะอาด ด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิด ESG
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่ทาง Evolt Technology ให้ความสำคัญ และต้องการยกระดับของธุรกิจให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จึงทำให้ทางอีโวลท์ได้ดำเนินธุรกิจด้วยการยึดถือกรอบแนวคิด ESG เป็นสำคัญ ภายใต้การบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการลงทุน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ดีของบุคลากรต่อประเด็นของ ESG ตลอดจนการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค นักลงทุนที่เลือกทำธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับทางอีโวลท์ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน