BLOGBLOG
back

ลงทุนกับ Thai ESG ลดหย่อนภาษี 2567 ได้ เพื่อก้าวสู่ Net Zero

สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่มีรายได้ทุกคน ก็คงรู้ดีว่าในช่วงต้นปี 2568 ที่กำลังจะถึงนี้ จะต้องดำเนินการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยการยื่นภาษีในทุก ๆ ปี นอกจากจะยื่นรายได้สุทธิแล้ว ยังสามารถยื่นรายการลดหย่อนภาษีควบคู่ไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “กองทุน Thai ESG” หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่มาแรง และให้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้สูง ตอบโจทย์สาย Go Green โดยเฉพาะ

กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน

รู้จักกองทุน Thai ESG กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund: Thai ESG (TESG) คือ กองทุนที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุน ให้สามารถนำจำนวนเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหมือนกับกลุ่มกองทุน RMF, SSF, SSFX หรือ LTF ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยกองทุน Thai ESG มีนโยบายลงทุนกับหุ้น ESG ไทย และ/หรือ ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ไทย โดยหุ้นกลุ่ม ESG ที่กองทุนให้ความสำคัญนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Governance) เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นหลักการลงทุนที่เหมือนกับหลักการของ ESG ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนนั่นเอง

กองทุน Thai ESG ลงทุนกับอะไรบ้าง?

นโยบายการลงทุนของกองทุน Thai ESG จะเป็นการลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ตามหลักของ ESG อาทิ หุ้นไทยยั่งยืน SET ESG Ratings หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ESG Bond โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็ได้มีการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืน หรือ SET ESG Ratings เพื่อประเมินการดำเนินงานในด้าน ESG ของบริษัทที่ได้จดทะเบียนในไทย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 193 บริษัท จากรายชื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด 753 บริษัท (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings และรางวัล SET Awards กลุ่ม Sustainability Excellence)

“SET ESG Rating คือ ผลประเมินหุ้นยั่งยืน ที่จัดทำขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการประเมินในรูปแบบของเรตติ้ง ที่เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อาทิ การจัดการความเสี่ยง, นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม, การดำเนินงานต่อพนักงาน ชุมชน และสังคม”

สำหรับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ รวมทั้งหมด 193 บริษัท ได้แก่

  • บริษัทที่อยู่ในระดับ AAA มีจำนวน 34 บริษัท
  • บริษัทที่อยู่ในระดับ AA มีจำนวน 70 บริษัท
  • บริษัทที่อยู่ในระดับ A มีจำนวน 64 บริษัท
  • บริษัทที่อยู่ในระดับ BBB มีจำนวน 25 บริษัท
กองทุน Thai ESG พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี 2567

การลงทุนของกองทุน Thai ESG ระดับ AAA เพื่อชาว Go Green

สำหรับรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thai ESG ในระดับ AAA ที่มีการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating นั้น ก็ถือว่ามีหลายหุ้นที่น่าสนใจ ตามนโยบายการลงทุนของ TESG ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 34 บริษัท ได้แก่

  • กลุ่ม Technology ได้แก่ ADVANC และ THCOM
  • กลุ่ม Industrials ได้แก่ AJ, AMATA, PPTGC และ SCGP
  • กลุ่ม Resource ได้แก่ BANPU, BCP, BGRIM, BPP, CKP, OR, PTT, PTTEP, T
  • OP และ WHAUP
  • กลุ่ม Financials ได้แก่ BAY, BKIH, KBANK, KTB, KTC และ TISCO
  • กลุ่ม Services ได้แก่ CPALL, CPAXT, CRC, M-CHAI และ PR9
  • กลุ่ม Ago & Food Industry ได้แก่ CPF, STA และ TFAMA
  • กลุ่ม Consumer Products ได้แก่ SABINA และ STGT
  • กลุ่ม Property & Construction ได้แก่ SCC และ WHA

ห้ามพลาด! ลงทุนในกองทุน Thai ESG ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ได้

ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน Thai ESG ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม หากลงทุนภายในปีภาษี 2567 นี้ จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เดือน ม.ค. – มี.ค. 2568) ซึ่งข้อดีของการลงทุนกับกองทุน TESG นอกจากจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงมาก ๆ แล้ว ยังไม่ถูกนับรวมกับกองทุนออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ด้วย

ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมเพื่อการส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท เท่านั้น

เรียกได้ว่า แค่ลงทุนกับกองทุน Thai ESG รวมกับกองทุนอื่น ๆ ในกลุ่มที่ทางสรรพากรกำหนด หรือกลุ่มประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตทั่วไปพร้อมประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่สามารถลดหย่อนได้อีก 100,000 บาท ก็จะได้รับสิทธิลดหย่อนสูงสุดถึง 900,000 บาท กันเลยทีเดียว ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งการจัดการเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีเงินได้ ที่อยากลงทุนกับกองทุนที่มีความยั่งยืน และได้สิทธิลดหย่อนภาษีไปในตัว

การลงทุนในกองทุน Thai ESG พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี 2567

ระยะเวลาการลงทุนในกองทุน Thai ESG ต้องถือกี่ปี?

นอกจากจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่นักลงทุนควรรู้คือ ระยะเวลาในการลงทุนของกองทุน ที่จะต้องถือเงินลงทุนไว้เป็นเวลา 5 ปี ตามเงื่อนไขใหม่ของการลงทุนกับกองทุน ESG โดยนับจากวันที่ซื้อกองทุน (นับแบบวันชนวัน) โดยหลักการคือ หากซื้อกองทุนในปีไหนก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้น เหมือนกับกองทุนชนิดอื่น ๆ

ยกตัวอย่าง หากซื้อกองทุน Thai ESG วันที่ 15 ธันวาคม 2567 ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 (ใช้ยื่นต้นปี 2568) และวันที่ครบกำหนดการซื้อกองทุน ESG นับไปอีก 5 ปี ก็คือวันที่ 15 ธันวาคม 2573 นั่นเอง และหากต้องการขายคืน จะต้องขายตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2573 เป็นต้นไป ถึงจะไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขของกองทุนนั่นเอง

และข้อดีของการลงทุนกับกองทุน Thai ESG ที่นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยการออมในระยะยาวของผู้ลงทุนได้ด้วย นอกจากนี้ การลงทุนกับกองทุน TESG ยังไม่ได้บังคับด้วยว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุก ๆ ปี เพียงแค่ต้องถือการลงทุนไว้ 5 ปีเท่านั้น และในการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ทั้งกลุ่ม Thai ESG, SSF และ RMF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เบื้องต้นต้องประเมินจากรายได้สุทธิต่อปี แล้วดูว่าในปีภาษีนั้นต้องเสียภาษีเท่าไหร่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้รู้แล้วว่าควรเลือกซื้อกองทุนในจำนวนเงินเท่าไหร่บ้าง (ใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30% ไม่เกิน 300,000 บาท)

“วิธีคิดภาษี คือ เงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน”

การลงทุนใน Thai ESG พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี สำหรับผู้มีเงินได้

สรุป

จะเห็นได้เลยว่า กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในกองทุนที่ถูกออกแบบมาเพื่อการสนับสนุนให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อหลักการ ESG เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ชาว Go Green ที่ต้องยื่นภาษีในต้นปี 2568 ที่จะถึงนี้ ก็อย่าลืมลงทุนกับกองทุน Thai ESG เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ปี 2567 เพราะนอกจากจะได้ลงทุนกับกองทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเทรนด์ Carbon Neutrality และ Net Zero ในอนาคตได้อีกด้วย ไม่แพ้การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซ CO2 หรือ ก๊าซเรือนกระจก ทำให้ช่วยลดมลพิษทางอากาศและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งาน